ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ

1.ชื่อ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ

2.เป็นที่รู้จักในด้าน
“นายแพทย์ ผู้ทุ่มเทให้กับงานวิจัยด้านโรคตับในเด็กและไวรัสวิทยา ที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน เมื่อทำลงมือทำสิ่งใดแล้วต้องทำให้ถึงที่สุดให้เป็นที่จดจำและเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม”
 ผลงานที่ทำ
เป็นผู้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน งานวิจัย และบริการ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 35 ปี ในสาขาโรคตับในเด็กให้กับนักศึกษาแพทย์ สอนและดูแลนิสิตปริญญาโท และเอก และหลังปริญญาเอก ทางด้าน Molecular Biology และไวรัสวิทยา แพทย์ประจำบ้าน ทั้งในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ในประเทศไทย มีผลงานวิจัยทางด้านโรคตับ ไวรัสวิทยา ไข้หวัดใหญ่ อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในเรื่อง ไวรัสตับอักเสบ และการป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันด้วยวัคซีน งานวิจัยเรื่องโรคตับในเด็กและการศึกษาในแนวลึก วิทยาศาสตร์การแพทย์ อณูชีววิทยาทางการแพทย์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2534 ผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในปี พ.ศ. 2540 และได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี พ.ศ. 2546 รวมถึงงานวิจัยทางด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และไวรัสชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย
(ที่มา: www.wikipedia.org)

3.แนวความคิด / ทัศนคติ / แรงบันดาลใจ / ฝากถึงรุ่นน้อง นศ.แพทย์ / มุมมองต่อคณะแพทย์จุฬาฯ
การเรียนที่ดี คือการปฏิบัติ
-           การเรียนที่ดีที่สุดคือเรียนแล้วได้ความรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบได้  ผมไม่เคยคิดว่าจะเรียนเพื่อเอาไปสอบ เรียนเพื่อเอาวิชาความรู้มากกว่า  และไม่ได้เรียนเพื่อแข่งกับใครแต่แข่งกับตนเอง  ในมุมมองของผมการเรียนที่ดีที่สุดคือภาคปฏิบัติ ต้องลงมือทำถึงจะเข้าใจ ถึงจะจำได้ขึ้นใจ  แล้วการสอนที่ดีที่สุดคือการทำให้ดูให้เป็นตัวอย่าง

ชีวิตต้องวางแผน ทำสิ่งใดต้องให้เป็นที่จดจำ
-           ผมเป็นคนมีความมุ่งมั่นตั้งแต่เด็ก ในการทำสิ่งใดก็ตามบอกเลยว่าวางแผนไม่ใช่ปล่อยไปไม่รู้ไม่ชี้  เมื่อวางเป้าหมายแล้วก็ศึกษาระเบียบ ทำทุกอย่างไปตามระเบียบที่วางไว้  ว่าเราต้องทำอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมาย ด้วยการวางเป้าหมายทำให้ผมได้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 และด้วยความที่เป็นคนที่ทำอะไรต้องเกาะติด  งานในทางวิชาการนั้นถ้าผมหยิบเรื่องอะไรมาวิจัยแล้วจะทำด้วยความมุ่งมั่น  เมื่อคนพูดถึงเรื่องนั้นๆไม่ว่าในแง่มุมไหนต้องคิดถึงเรา 

คติในการดำเนินชีวิต
-           คำขวัญแรกที่ผมมักพูดเสมอคือ “ happiness”  ให้ทำทุกอย่างด้วยความสุข ผมเชื่อว่าการทำสิ่งใดก็ตาม  หากทำในสิ่งที่มีความสุขทุกอย่างจะมีทางเดินของมันเองเอง  ส่วนตัวคติในการดำเนินชีวิตที่ผมทำมาตลอดและพูดถึงเสมอคือ คุณธรรมที่เราจะต้องมี 3 ประการคือ ซื่อสัตย์ อดทน กตัญญู

เมื่อมีอุปสรรคให้ดูมดเป็นตัวอย่าง
-           งานทุกอย่าง จะไม่มีอุปสรรคเลยมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องอดทน  เคยเห็นมดที่เดินเป็นทางไหม เราลองเอาหินไปวางขวางทางมดมันถอยกลับรังไหม  ไม่กลับใช่ไหม มดไม่เคยถอยกลับรัง ยังไงมันก็เดินข้ามเดินอ้อมไปอยู่ดี ถ้าอุปสรรคแค่นี้ท้อถอยก็แพ้มดแล้ว ทุกปัญหามีทางแก้หมด แต่จะแก้ยังไงเท่านั้นเอง บางอย่างก็ต้องอ้อม  บางครั้งล้มก็ต้องลุก ไม่ใช่ล้มแล้วถอยเลย

อนาคตแพทย์จุฬา
-           ในอนาคตโรงเรียนแพทย์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ร่วม 30 แห่ง นักเรียนแพทย์ก็จะจบประมาณปีละ 3 พันคน  สิ่งที่ผมอยากเห็นคณะแพทย์จุฬาของเรา คือ แพทย์จุฬาจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปในทางวิชาการให้เป็นหลักที่อ้างอิงสำหรับมหาวิทยาลัยอื่นๆ  ต้องมุ่งแข่งกับระดับนานาชาติ  ซึ่งโดยองค์รวมแล้วเรา “ต้องเป็นผู้สร้างความรู้ ไม่ใช่บริโภคความรู้”  จะต้องผลิตความรู้ออกมาแล้วให้คนอื่นเอาความรู้เราไปใช้ เราถึงจะถีบตัวของเราออกไปได้  การจะทำอย่างนี้ได้ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด ไม่ใช่จำอย่างเดียว

4.ประวัติการศึกษาและผลงาน
การศึกษา
อุดมศึกษา : 
    แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                                                                    พ.ศ.2518
    Research fellow, King's College Hospital Medical School, London, UK                                        พ.ศ.2527              
    วุฒิบัตรแสดงความรู้หรือความชำนาญ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์ แพทยสภาแห่งประเทศไทย
 
ตำแหน่งทางวิชาการ
    อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                       พ.ศ. 2522
    ศาสตราจารย์ระดับ 11 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    หัวหน้าโครงการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกียรติประวัติและผลงานดีเด่น
    พ.ศ. 2532 รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เรื่อง ไวรัสตับอักเสบและการป้องกันจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    พ.ศ. 2534 รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เรื่อง การดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี ผลการศึกษาระยะยาว 5 ปี กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    พ.ศ. 2536 รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง ปัญหาและการป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย จากสภาวิจัยแห่งชาติ
    พ.ศ. 2540 รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์
    พ.ศ. 2540 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
    พ.ศ. 2540 เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    พ.ศ. 2546 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย
    พ.ศ. 2546 รางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (Citation) โดยรวมสูงสุด ระหว่างปี ค.ศ. 1992 ถึงปัจจุบัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    พ.ศ. 2547 รางวัลผลงานวิจัยเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
    พ.ศ. 2547 รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)
    พ.ศ. 2549 รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง ไข้หวัดนกในประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
    พ.ศ. 2550 รางวัลปาฐกถาประสงค์ ตู้จินดา จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
    พ.ศ. 2550 รางวัลแพทย์จุฬาฯ ดีเด่นสาขานักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพประจำปี 2550 ครบรอบ 60 ปี แพทย์จุฬาฯ
    พ.ศ. 2551 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จากสมาคมศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    พ.ศ. 2551 รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

Image Gallery

back