ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ประมวล วีรุตมเสน

1.ชื่อ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ประมวล วีรุตมเสน

2.เป็นที่รู้จักในด้าน
“นายแพทย์ผู้ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับงานวิจัย  และประสบความสำเร็จในการคิดค้นการให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย”

ผลงานที่ทำ
ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ให้กำเนิดเด็กชายปวรวิทย์ ศรีสหบุรี ซึ่งเป็นเด็กหลอดแก้วรายแรกของไทยขึ้นได้สำเร็จ ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ยังเป็นนักวิจัยสรีรวิทยาการเจริญพันธุ์ ตลอดจนเป็นอาจารย์และนักวิชาการ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการแพทยสภาและเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสูติ-นรีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2536 - 2539 และเคยเป็นประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2537 - 2538
(ที่มา: http://th.wikipedia.org)

3.แนวความคิด / ทัศนคติ / แรงบันดาลใจ / ฝากถึงรุ่นน้อง นศ.แพทย์ / มุมมองต่อคณะแพทย์จุฬาฯ
แรงบันดาลใจผ่านร่างอาจารย์ใหญ่
-           เข้ามาเรียนวันแรกอาจารย์ก็พาเดินไปดูศพอาจารย์ใหญ่ พอผมขึ้นไปเห็นแล้วรู้สึกว่า ...คิดผิดแล้วที่มาเรียนหมอ ไม่เอาดีกว่า แต่อาจารย์ที่สอนท่านพูดดีมาก ท่านบอกว่า “นักศึกษาแพทย์ที่รัก  ศพอาจารย์ใหญ่ที่นอนทอดร่างอยู่นี่ ครั้งหนึ่งมีอารมณ์โกรธ หลง หัวร่อต่อกระซิกได้เหมือนอย่างพวกเรา  แต่ขณะนี้ท่านไม่มีอะไรแล้ว มีแต่ร่างกายที่ไม่มีอันตรายต่อใครอีกแล้ว อยากให้นักศึกษาทุกๆคนใช้ความพยายามมุ่งมั่น ปลุกท่านให้ตื่นให้ลุกขึ้นมาคุยให้ได้” คำพูดนี้พลิกความคิดผมเลย จากที่ไม่เอาแล้ว... เปลี่ยนเป็นความคิดที่ว่าเราต้องศึกษา ดูแลร่างท่าน

หลักการทำงาน เน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์
-           เมื่อเราตั้งใจแล้วเราต้องมีความมุ่งมั่นว่าศึกษาความรู้ไว้ให้มากที่สุด มีอะไรผมก็ทำไปทำทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ โดยไม่ได้คิดอะไร สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ เที่ยงคืน ตี 1 ผมต้องเดินลุยหิมะไปทำวิจัย ซึ่งใครก็บอกบ้า ไม่ทำกันหรอก ผมก็ทำไม่อยากให้คนอื่นว่าเราไม่แน่จริง  และสิ่งผมที่เคยบอกรุ่นหลังๆไว้ว่า กรอบความคิดหรือวิธีคิดเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าผลลัพธ์ ผลลัพธ์มันเป็น End แต่ process หรือกระบวนการผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  ผมเองจะสอนให้เด็กทำกรอบความคิด วิธีคิด ขั้นตอนการคิดเป็นกระบวนการ  ไม่ใช่มาวัดตอนที่มันจบแล้ว

คติในการดำเนินชีวิต
-           ถ้าเราวางแผนที่ดีแล้วมันต้องไปถึงจุดที่ตั้งไว้แน่แน่นอน ทำงานอะไรต้องใจถึง มุ่งมั่น Henry Ford ท่านเขียนไว้ว่า  “The harder I work, the luckier I get”  เป็นคติที่ผมใช้อยู่ตลอดเวลา

ฝากถึงแพทย์ในวันข้างหน้า
-           อยากให้คนเป็นแพทย์ทุกคนยึดถือว่าทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดในชีวิตคือ ผู้ป่วย ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ความร่ำรวย คือผู้ป่วยที่เราดูแล อยากให้ดูแลเขาเหมือนกับญาติสนิทของเรา เราดูแลคุณพ่อคุณแม่อย่างไร ก็จงดูแลผู้ป่วยทุกคนเช่นนั้น  ไม่ว่ายากดีมีจนขอให้ช่วยผู้ป่วยด้วยความตั้งใจ ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เราต้องทำตามความรู้ ตามความสามารถ และต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพ  และคำว่าสินบนกับสินน้ำใจนั้นต่างกัน   สินบนก็คือว่าต่อรองก่อนที่ Action จะเกิดขึ้น คือต้องเอามาเท่านี้ก่อนนะถึงจะรักษาให้  แต่สินน้ำใจนั้นคนละเรื่อง เราดูแลเขาเป็นอย่างดีเขาอาจจะให้ไข่ชะลอมหนึ่ง  เนคไทเส้นหนึ่งอันนี้ไม่ว่ากัน

มุมมองต่อคณะแพทย์จุฬาฯ
-           ผมอยากให้คณะแพทย์เป็นแหล่งผลิตบุคคลากร ทุ่มเทสร้างบุคลากรให้มีความพร้อมทางวิชาการ แล้วการรักษาก็จะตามมา และต้องพัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายไม่ใช่แค่แพทย์ ต้องปลูกฝังความรับผิดชอบ ต้องสร้างคนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถ้าหากพัฒนาบุคคลากรแล้ว บุคคลกรก็ไปพัฒนาอย่างอื่นต่อ

4.ประวัติการศึกษาและผลงาน
การศึกษา
เตรียมแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                                                           พ.ศ. 2499
แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์                                                                        พ.ศ. 2501
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย                                                                   พ.ศ. 2512
อนุมัติบัตรแพทย์ผู้ชำนาญการ แพทยสภา                                                                                พ.ศ. 2518
 
ตำแหน่งทางวิชาการ
อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย           พ.ศ. 2510
ผู้ช่วยศาสตราจารย์                                                                                                                 พ.ศ. 2518
รองศาสตราจารย์                                                                                                                    พ.ศ. 2521
ศาสตราจารย์ ระดับ                                                                                                                พ.ศ. 2533
หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา                                                                                     พ.ศ. 2536
ศาสตราจารย์ ระดับ๑๑                                                                                                            พ.ศ. 2538
ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                                                    พ.ศ. 2543
ปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                         พ.ศ. 2556
ตำแหน่งทางวิชาชีพ
ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย                                                                       พ.ศ. 2537-2538
เลขาธิการแพทยสภา                                                                                                               พ.ศ. 2543-2546
ตำแหน่งอื่นๆ
ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ อนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ราชวิทยาลัยสูตินรีแห่งประเทศไทย                                                                           พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน
รางวัล
นักวิจัยดีเด่นแห่งจุฬาลงกรณ์  มหาวิทยาลัย                                                                           พ.ศ. 2535
ผลงานวิจัย  และผลงานทางวิชาการ
ผลงานวิจัย “เด็กหลอดแก้ว” คนแรกของประเทศไทย                                                                พ.ศ. 2530
สร้างเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) จากตัวอ่อนเป็นรายแรกของประเทศไทย                                                พ.ศ. 2550
บทความทางวิชาการและตำราทางวิชาการ   ได้ตีพิมพ์ มากกว่า ๑๐๐ ชิ้น

 

รูปภาพ

ผลงาน

กลับ